หวัดดีครับ ผมชื่อเหม่ง (พัชรพล ศรีดา) ผมมีเรื่องราวในชีวิตมาแชร์ให้ทุกคนฟัง หวังว่าจะเป็นแนวทางหรือข้อคิดให้ท่านไม่มากก็น้อย

วันนึงระหว่างฝึกงานกับ "โครงการต่อกล้าอาชีวะ" ซึ่งเป็นโครงการที่ให้ทุนเด็กอาชีวะพัฒนาโซลูชันให้ธุรกิจจริงโดยใช้ IoT/AI ผมสังเกตเห็นปัญหาในที่ทำงาน
อยากได้เอกสารอะไรทีก็วุ่นวาย เมมไฟล์ไปมา การค้นหาเอกสารก็ยุ่งยาก เหมือนกับว่าข้อมูลเยอะจนแทบจำไม่ได้ว่าอยู่ตรงไหนบ้าง
ตอนนั้นแหละ บวกกับพอดีผมติดตามพวก LLM, ChatGPT แล้วเห็นว่ามันเก่งดี เลยมีไอเดียว่า
"จะดีกว่ามั้ย ถ้ามี AI ที่เข้าใจข้อมูลทั้งหมดขององค์กรแบบเฉพาะเจาะจง เหมือนเลขาส่วนตัวที่ตอบเรื่องงานซ้ำๆ แทนเรา?"
จากฟีเจอร์เล่นๆ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ "GearMind"
จากศูนย์สู่การเกิด
ผมเริ่มต้นด้วยการค้นคว้าเรื่อง Retrieval Augmented Generation (RAG) ตอนแรกไม่รู้จักด้วยซ้ำว่า RAG คืออะไร ไปเจอในโลกอินเทอร์เน็ต ก็เลยลองใช้ไลบรารีต่างๆ ตั้งแต่ LangChain ยันไปถึง LlamaIndex

แต่... รู้สึกว่าถ้ายังพึ่งไลบรารีไปเรื่อยๆ มันจะไม่ทำให้เข้าใจของจริง สุดท้ายคิดว่า
"เออ ไม่ต้องใช้ไลบรารีพวกนี้แล้ว เย็บเอง!"
เริ่มหา Vector DB (สุดท้ายเลือก QDrant เพราะฟรีและง่าย) ฝึกใช้ Google Embedding API ประยุกต์กับ TypeScript แล้วใช้เวลารื้อระบบเก่าๆ ทำเองหมดทุกอย่าง ตั้งแต่ Backend, Frontend (Next.js), Infra (Docker + VPS) ไปยัน Integration กับอุปกรณ์ IoT, API document และอื่นๆ อีกมากมาย
ของมันค่อยๆ เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา เหมือนเด็กที่กำลังปั้นดินน้ำมันตามใจชอบ โน่นก็อยากใส่ นี่ก็อยากทำ
ตอนคิดชื่อระบบ ยังนึกไม่ออก เลยลองคุยกับ ChatGPT สุดท้ายได้ไอเดีย "GearMind" (Gear = เครื่องจักร, Mind = สมอง)
"เลขา AI ของเครื่องจักร หรือของใครก็ตามที่ต้องการให้ AI จดจำข้อมูลในพื้นที่ของตัวเอง"

GearMind ทำอะไรได้บ้าง?
เกือบลืมเล่าว่า GearMind ทำอะไรได้บ้าง:
- อัพโหลดกองไฟล์เอกสารคู่มือการซ่อมบำรุงลง Bucket แล้วถาม AI ว่าเครื่องจักรอันนี้แก้ไขปัญหานี้อย่างไร
- รองรับ API สำหรับเชื่อมกับ IoT เช่น ข้อมูลเซ็นเซอร์, fault report
- ให้ความรู้สึกเหมือน Chatbot ที่ super niche เพราะเชื่อมต่อกับข้อมูลของคุณเอง ไม่ใช่ความรู้ของโลกกว้าง
- มี Dashboard เฉพาะทาง, มีระบบ Auth พื้นฐานครบ, ตั้งโควตาแบบ Pay-as-you-go ไว้เหมือน B2B SaaS ในฝัน
โลกความจริงที่ไม่เคยนวลเนียน
แต่ผมไม่ใช่เทพอะไรหรอก เพราะระหว่างทาง "โดนสั่งสอน" จากโลกจริงเยอะมาก

วันหนึ่งก่อนนำเสนอผลงาน 30 นาที Server ผมโดน Hack เอาไปขุดเหรียญ! ผมนี่เหงื่อแตกพลั่ก วิ่งวุ่นแก้ปัญหา ลบ Server นั้นทิ้ง แล้วเปิด Server ตัวใหม่ ติดตั้ง Docker ใหม่ทั้งหมด ตั้ง environment ซ้ำ เตรียม vector database และโครงสร้างทุกอย่างให้พร้อมภายใน 30 นาทีก่อนขึ้นพรีเซนต์ โคตรกดดัน แต่ก็ทำทัน

พออวดระบบกับกรรมการ + อาจารย์ แข่งรอบเขตได้ที่ 2 ทั้งๆ ที่มั่นใจว่าผลงานของเราดีที่สุด แต่... กรรมการงง
"แล้วมันดียังไงล่ะ?"
นั่นคือคำถามที่โดนถามบ่อยที่สุด แม้จะอธิบายแล้วว่า GearMind จะช่วยให้องค์กรจัดการกับข้อมูลเอกสารจำนวนมากได้ดีขึ้น แต่ก็ยากที่จะทำให้คนทั่วไปเข้าใจ โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้อยู่ในวงการเทคโนโลยี

แข่งรอบภาค ระบบดีหมดแล้ว แต่ดันไปเจอ Content Safety Provider ล่ม แก้ไขอะไรไม่ได้ โคตรพัง ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เรา แต่อยู่ที่ Provider แก้ไม่ได้จริงๆ และผมก็ไม่ได้เตรียมระบบ bypass กรณีที่ provider เกิดปัญหาไว้ด้วย
ผลลัพธ์? โดนปัดตก...
ความล้มเหลวที่สวยงาม
บอกตามตรง user จริงไม่มี ตอน pitch อะไรก็คิดว่าคนต้องการแน่ๆ แต่ความจริงไม่มีใครยอมเปลี่ยนระบบที่ใช้อยู่ ขายของสู้คนในสายธุรกิจจริงๆ ไม่ไหว
ช่วง pitch รอบใหญ่ มีอาจารย์บางท่านพูดว่าผลิตภัณฑ์ของเรา "ล้ำเกินกรรมการ"
ต้องยอมรับว่า "มันก็แค่โปรเจกต์ที่ไม่มี user"
จะบอกว่า GearMind ดีที่สุดในชีวิตมั้ย? ไม่หรอก มันดีตรงที่ทำให้เห็นชัดเจนว่า "ของเทพไม่ได้แปลว่าคนจะใช้"
เทคนิค advance, AI สุดล้ำ, dashboard สวยงาม, data pipeline เจ๋ง แต่สุดท้าย:
- error แค่นาทีเดียว = แพ้
- โดน provider ล่ม = เดี้ยง
- User ไม่เข้าใจ = เงิบ
- ทีมไม่มีสายขาย ไม่มี go-to-market จะเทคนิคอลเจ๋งแค่ไหนก็ไม่มีใครเอาอยู่ดี
GearMind เจ๊ง...
คุณค่าที่เหลืออยู่

หลังแข่งเสร็จ สุดท้าย... GearMind ไม่ได้ไปต่อ user active = ศูนย์ ต่อให้ระบบยัง deploy อยู่จริงๆ ผมก็ไม่ได้เข้าไปเช็ค ไม่ได้มอนิเตอร์อะไรเลย ทีมก็แยกย้าย คนนึงไปเรียน อีกคนไปทำโปรเจกต์ของตัวเอง เหลือแค่ "กราฟประสบการณ์" กับ "Mindset ที่ได้จากความพัง" ทั้งหมด
แต่สิ่งที่ได้มันมีค่ามากกว่านั้น:
- ผมเข้าใจการสร้างซอฟต์แวร์จริงๆ ไม่ใช่แค่โค้ดในห้องเรียน
- เข้าใจว่า business pain จริงกับ pain ในหัวเราคนละโลกกัน
- รู้เลยว่า "failure" ไม่ใช่แค่แพ้ที่คะแนน แต่คือการเรียนรู้แบบเอาตัวเองไปยัดในสนามจริง
และที่สำคัญที่สุด:
- GearMind ทำให้ผมเชื่อในตัวเองมากขึ้น ว่าต่อให้วันหนึ่งไม่มีรางวัล ไม่มีคนชม ไม่มีคนใช้ แต่ถ้ามี "ไฟ" อยากสร้างอะไร ก็ลงมือให้สุด
- อนาคตอาจไม่ได้อยู่ที่โปรเจกต์นี้ แต่คุณค่าของมันจะซึมลึกไปกับเราในทุกงานที่ทำ
บทสรุป
GearMind คือไอเดียเล็กๆ ที่เติบโตเป็นโปรเจกต์จริง แต่ล้มคาตลาดใหญ่ แต่... มันคือความล้มเหลวที่ผมภูมิใจที่สุด
เลิกหวังว่าทำอะไรจะรอด 100% ขอแค่ล้มให้บ่อยที่สุด แล้วอย่าหยุดคิดใหม่ก็พอ